การพัฒนาพฤติกรรมไม่เผาในพื้นที่สุ่มเสี่ยงตำบลแม่กาจังหวัดพะเยา

รักษ์ศรี เกียรติบุตร

Abstract


การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อค้นหาปัญหาของเกษตรกรด้านการเผาทำลายวัชพืชและวัสดุทางการเกษตร ตลอดจนผลของการนำนโยบายของรัฐด้านการแก้ปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่าจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร ตำบลแม่กา จังหวัดพะเยา 2) เพื่อพัฒนาหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ในการสร้างพฤติกรรมไม่เผาในพื้นที่สุ่มเสี่ยงตำบลแม่กา จังหวัดพะเยา เน้นการพัฒนาการแก้ปัญหาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ผู้ที่พักอาศัยในเขตหมู่บ้านนำร่อง 5 หมู่บ้าน เทศบาลตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จากข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่พบปัญหาการเผารุนแรง 2,804 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 7,265 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยกำหนดสัดส่วน (Quota Sampling) จากกลุ่มผู้นำชุมชน อาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครป่าไม้ และ ประชาชนที่ประกอบอาชีพเสี่ยงต่อการเผาวัสดุทางการเกษตร คิดเป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 379 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์เชิงลึกในการสนทนากลุ่ม (a focus group discussion) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และสถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) One-Way ANOVA สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นเพิ่มเติมเรื่องปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่าจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ และปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติตามนโยบายป้องกันปัญหาหมอกควันของภาครัฐ ใช้การเรียบเรียงนำเสนอในรูปแบบการบรรยาย

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 58.8 มีอายุระหว่าง 41-50 ปี ร้อยละ 38.5 มีสถานภาพสมรสร้อยละ 77 มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกรร้อยละ 64.9 และ ร้อยละ 42.7 มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยต่ำกว่า 10,000 บาท ด้านปัญหาของเกษตรกรในการเผาทำลายวัชพืชและวัสดุทางการเกษตร พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.2 ใช้วิธีการเผาตอซังพืชเพื่อกำจัดวัสดุทางการเกษตรที่ไม่ต้องการ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ร้อยละ 44.5 เห็นความสำคัญของการทำปุ๋ยหมักจากวัสดุทางการเกษตรเพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ และร้อยละ 31 ต้องการให้ภาครัฐจัดอบรมการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุน สำหรับค่าเฉลี่ยการนำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติด้านการแก้ปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่าจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร ในภาพอยู่ในระดับมาก (=3.80) ซึ่งเกษตรกรเห็นด้วยกับมาตรการงดเผา 60 วันในระดับมากที่สุด (= 4.24) อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นในระดับปานกลางที่จะเลี่ยงการเผาวัสดุการเกษตร (=3.40)  ในประเด็นการสร้างหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสร้างพฤติกรรมไม่เผาในพื้นที่สุ่มเสี่ยงตำบลแม่กา ในภาพรวม กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญด้านการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในระดับมาก (=4.17) ทั้งนี้ ในประเด็นการได้รับโอกาสในการตัดสินใจการมีส่วนร่วม และประเด็นการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมการมีส่วนร่วมก็อยู่ในระดับมากที่สุด (= 4.39 และ 4.45 ตามลำดับ) สำหรับข้อเสนอแนะจากการศึกษาพบว่า การดำเนินการตามนโยบายภาครัฐในบางส่วนยังมีความจำกัดด้านงบประมาณ นอกจากนี้เสนอให้ผู้นำชุมชนเพิ่มบทบาทในการสื่อสารกับคนในชุมชนให้มากขึ้น และเน้นการรณรงค์ให้ชุมชนใช้แนวคิดปรัชญาชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.