นโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุต่อการพัฒนาประเทศในอาเซียน The Elderly Policy for the Development of ASEAN Countries

อณิษฐา หาญภักดีนิยม

Abstract


การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรอันเนื่องจากสังคมผู้สูงอายุ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ขณะที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในเอเชีย คือ ประเทศสิงคโปร์อันดับแรก รองลงมาคือ ประเทศไทย โดยทั้งสองประเทศมีสัดส่วนผู้สูงอายุใกล้เคียงกันมาก แต่แม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะเตรียมแผนรับมือเป็นอย่างดี แต่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการมีบุตรน้อยลง และผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ ทุกประเทศล้วนมีแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนี้ ประเทศสิงคโปร์ (ร้อยละ 17) ประเทศไทย (ร้อยละ15.8) และประเทศเวียดนาม (ร้อยละ10.4) ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ส่วนอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน แต่พบว่ามีประชากรผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 8 ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559) อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรนี้ ส่งผลต่อภูมิภาคในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายทางการเงิน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของทุกระดับทุกภาคส่วนของภาครัฐบาลที่ต้องร่วมกันวางแผนในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว เช่น การมีนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการจ้างงานให้ความหลากหลายในอายุ เพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณ ซึ่งบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ประเทศไทยและสิงคโปร์ ขยายเพิ่มอายุเกษียณ รวมถึงจ้างผู้สูงอายุที่มีความสามารถ เชี่ยวชาญ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ประเทศไทยได้มีการจัดเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้หลายประเทศในอาเซียน ประสบปัญหาในอัตราสัดส่วนการเพิ่มขึ้นสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจสังคม รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีขึ้นเมื่อประชาชนมีสุขภาพอนามัยดี ประชากรในสังคมจึงมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการวางแผนครอบครัวในสภาพสังคมปัจจุบัน นำไปสู่ภาวการณ์เกิดบุตรที่ลดลง ทำอัตราผู้สูงอายุมากขึ้นเมื่อเทียบกับการเกิดของเด็ก ทำให้นโยบายในการช่วยเหลือผู้สูงอายุในหลายประเทศต่างปรับตัว เตรียมความพร้อมเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย

Keywords


นโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ, การพัฒนาประเทศ, อาเซียน

Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.