การพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมทักษะการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้านโดยใช้วิธีเสริมต่อการเรียนรู้สู่ทักษะการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนระดับประถมศึกษาในจังหวัดพะเยา
Abstract
การพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมทักษะการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้านโดยใช้วิธีเสริมต่อการเรียนรู้สู่ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนระดับประถมศึกษาในจังหวัดพะเยา การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตร ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทางด้านการอ่านและการเขียน ของนักเรียนระดับประถมศึกษา เจตคติของนักเรียนและความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโครงการวิจัย ประชากร ได้แก่ นักเรียน จำนวน 27,247 คน ในโรงเรียนประถมศึกษา 241 โรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยาเขต 1 และเขต 2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที 4, 5, 6 จำนวน 90 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage Stage Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย หลักสูตรส่งเสริมทักษะการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้านโดยใช้วิธีเสริมต่อการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการใช้หลักสูตรสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม จำนวน 30 ข้อ แบบวัดเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชาการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 15 ข้อ การสนทนากลุ่มเพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อการพัฒนาหลักสูตรสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม รายวิชาการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้าน
ผลการวิจัยพบว่า
1. หลักสูตรสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม รายวิชาการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้านในภาพรวม มีคะแนนความเหมาะสม โดยเฉลี่ยเท่ากับ 4.62 อยู่ในระดับมากที่สุด และแผนการจัดการเรียนรู้ ในภาพรวมมีคะแนนความเหมาะสม โดยเฉลี่ยเท่ากับ 4.55 อยู่ในระดับมากที่สุด มีประสิทธิภาพ 83.07/82.50 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยหลังการเรียนรู้โดยใช้หลักสูตรสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม รายวิชาการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้านสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมและแผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้าน โดยภาพรวมพบว่า นักเรียนมีเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53
4. จากการศึกษาสรุปผลของการแสดงความคิดเห็นจากการสนทนากลุ่ม ดังนี้ หลักสูตรสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม รายวิชาการอ่านและการเขียนด้วยเครือข่ายชุมชนปราชญ์ชาวบ้าน มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นในด้านการพัฒนาหลักสูตร หน่วยการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้เหมาะสมกับนักเรียนเพราะสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และบริบทของสถานศึกษาในส่วนของโครงสร้างเวลา เนื้อหาสาระ มีความถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะเนื้อหาสาระการเรียนรู้จะเน้นในด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มีการวัดผลและประเมินผลตามสภาพจริง ส่งเสริมให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านและแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นของตนเอง ส่งผลให้นักเรียนมีเจตคติที่ดี เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน นักเรียนได้รับประโยชน์จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับตนเอง
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.