วิเคราะห์พุทธทำนายที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ในตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

Sombat pengwong, Kriengsak Fongkam, Phrakru Soontorndhammanithat

Abstract


งานวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาความเป็นมาของพุทธทำนายที่ปรากฏในคัมภีร์เถรวาท 2) เพื่อศึกษาพุทธทำนายที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และ 3) เพื่อวิเคราะห์พุทธทำนายที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาภาคเอกสาร และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth-interviews) ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 15 รูป/ คน และทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์

          1. ในคัมภีร์อรรถกถา ได้กล่าวถึงความฝัน 16 ประการของพระเจ้าปเสนทิโกศลโดยมี เนื้อหาใจความสำคัญเกี่ยวกับการทำนายในอนาคตหลังจาก 2,500 ปี ไปแล้ว จะมีคำทำนายเกี่ยวกับผู้ปกครองเป็นหลักที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมจริยธรรม ปกครองหรือบริหารบ้านเมืองด้วยความอยุติธรรม ผู้นำหลงอยู่ในอำนาจ ดำเนินการบริหารประเทศด้วยความไม่สุจริต และความเสื่อมโทรมของสังคม โดยเฉพาะมนุษย์ที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีศีลธรรม ขาดจรรยาบรรณในการทำงาน และรวมไปพระสงฆ์ที่ไม่ครองตนตามพระธรรมวินัย จนเกิดความไม่ปกติของบ้านเมือง สังคมขาดความเรียบร้อย จนไม่สามารถทำงานเพื่อเลี้ยงชีพได้

          2. พุทธทำนายมีความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ส่งผลให้เศรษฐกิจฝืดเคือง ประชาชนจะเดือดร้อน จากพุทธทำนายข้อดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประชาชนชาวจังหวัดแพร่จึงได้น้อมนำเอาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน มีผลกระทบต่อสังคมอย่างเห็นได้ชัดในกรณีปัญหาต่าง ๆ ที่ปรากฏตามสื่อ การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น การทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาเหล่านี้ทางประชาชนในตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ได้นำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา คือหลักฆราวาสธรรม 4 มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติและส่งเสริมให้เยาวชน สังคม ได้นำเอาหลักธรรมเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองที่ดีมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติในการครองเรือน

          3. จากความฝัน (สุบิน) ของพระเจ้าปเสนทิโกศล สามารถวิเคราะห์สะท้อนถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดต่อคนหมู่มากเป็นสังคมจึงแบ่งสภาพของปรากฏการณ์ในสังคมไทย สังคมโลก สามารถวิเคราะห์ด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เช่น คนขาดความรู้ประสบการณ์ แต่ได้รับแต่งตั้งให้ปกครอง บ้านเมืองเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจ รับสินบน ปกครองคนอย่างไม่ชอบธรรม และยังไปสอดคล้องกับ วัฒนธรรมประเพณีของประชาชนในตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมในเรื่องของความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งสอดคล้องกับพุทธทำนายข้อที่ว่า แม่โคดื่มนมลูกโค พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า ภายหน้าเด็กจะไม่เลี้ยงดูผู้ใหญ่คนชราหาเลี้ยงตนเองไม่ได้จะต้องอ้อนวอนขอเด็กเลี้ยงชีพตน ซึ่งขัดแย้งกับวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่ทางพระพุทธศาสนาสอนให้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา บุพการี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทิศ 6 บทบาทหน้าที่ที่สังคมจะต้องประพฤติต่อกันแม้ในพุทธทำนายข้อนี้จะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจึงทำให้บุตรธิดาทุกคนต้องมีความกตัญญูต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ โดยเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

Full Text:

PDF

References


ตุลาภรณ์ แสนปรน และ ปฐม หงส์สุวรรณ. (2564). “รูปแบบ เนื้อหา และลักษณะเด่นของวรรณกรรมพุทธทำนายในสังคมไทย”. วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร. 9(6), 2616-2629.

วาสนา กาญจนะคูหะ และคณะ. (2562). “วรรณกรรมการพยากรณ์”. วารสารเกษมบัณฑิต. 20(พิเศษ), 1-9.

ธนบัตร ใจอินทร์. (2563). “พุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศล ฉบับหอสมุดแห่งชาติ : วามสัมพันธ์กับเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา”. วารสารอักษราพิบูล. 1(2), 38-53.

พระปลัดอาทิตย์ อิทฺธิโชโต (ก้อนแก้ว). (2562). “การศึกษาความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ของชาวพุทธในล้านนา”, (วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต). บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พัชรี แก้วผลึก. (2561). “การศึกษาวิเคราะห์เรื่องฤกษ์ตามคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยที่มีผลต่อพุทธศาสนิกชน”, (วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต). บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตุโต). (2539). ความสำคัญของพระพุทธศานาในฐานะศาสนาประจำชาติ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, 2539.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

เทศบาลตำบลบ้านถิ่น. (2566). ประวัติ/สภาพทั่วไปตำบลบ้านถิ่น. เรียกใช้เมื่อ 15 มกราคม 2566 จาก https://www.banthin.go.th/tambon/general.


Refbacks

  • There are currently no refbacks.